วันพฤหัสบดีที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2551

สู่เส้นทางรัก

ถ้ามีใครสักคนตั้งคำถามว่า “ความรักคืออะไร” ก็คงจะมีคำตอบให้เลือกมากมาย เพราะนิยามคำว่า “ความรัก” นั้น มีผู้กล่าวไว้หลากหลายเหลือเกิน แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่า มีคนจำนวนมากที่ยังไม่รู้จักความรักอย่างแท้จริง
หนังสือ “สู่เส้นทางรัก” ของแพทย์เชิงดอย ได้กล่าวถึง “ความรัก” บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง หลายแง่หลายมุม เพื่อเป็น “แสงสว่าง” ส่องนำทางให้แก่ผู้ที่กำลังมีความรัก รวมถึงผู้ที่ยังไม่รู้จักความรัก เพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง จนได้ชื่อว่า “รักเป็น” เพราะความรักนั้นมีทั้งคุณอนันต์ และโทษมหันต์ในตัวของมันเองเลยทีเดียว
“ความรักที่แท้จริงควรหมายถึงความกรุณา ปรารถนาดีต่อผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นจิตใจเข้มแข็งแน่วแน่ในการเสียสละ ต้อนรับกับสรรพชีวิตอย่างให้เกียรติให้อภัย จิตใจเผื่อแผ่ รักแท้จึงเป็ฯภราดรภาพอันลึกซึ้งระหว่างชีวิตต่อชีวิต” (หน้า ๑) เป็นนิยามความรักของแพทย์เชิงดอย ที่กล่าวเป็นเชิงปรัชญาไว้อย่างคมคาย “ความรักมิใช่การเพิ่มพันธนาการให้แก่กัน แต่เป็นการปลดปล่อยให้เขามีสันติสุข มิได้ผูกมัดเพื่อตักตวงผลประโยชน์จากกัน... หญิงชายที่มาใช้ชีวิตร่วมกันฉันคนรักไม่ควรหมายถึงเชือกสองเส้นมาพันเป็นเกลียวแน่นหนา แต่ควรเสมือนหนึ่งสายพิณคนละสายที่อิสระ แต่ร่วมบรรเลงเพลงเดียวกัน” (หน้า ๓) นี่คือตัวอย่างของ “อรรถรส” ที่เราได้สัมผัสจากหนังสือเล่มนี้
ข่าวในหนังสือพิมพ์ที่ปรากฏไม่เว้นแต่ละวัน เป็นข่าวชู้สาวที่แก่งแย่งแข่งดีกันในเรื่อง “ความรัก” บางรายถึงขนาดตามจองล้างจองผลาญ เช่น ฆ่ากันด้วยวิธีแปลก ๆ เพื่อเป็นการลบรอยแค้น สิ่งเหล่านี้หาได้เกิดจากความรักไม่ มันเป็นเพียงความลุ่มหลง อันเกิดจากกิเลสฝ่ายต่ำ ขาดการใช้สติปัญญาไตร่ตรองโดยรอบคอบ เพราะคนทั่วไปเมื่อเกิดความรู้สึกรักใครสักคน ก็จะเรียกร้องยึดถือเป็นกรรมสิทธิ์ ยึดมั่นในความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น ให้จงรักภักดีต่อตนเป็นนิรันดร เมื่อได้รับการตอบสนองก็จะสุขกายสบายใจ แต่ถ้าได้รับในทางตรงกันข้ามก็จะเกิดความเคียดแค้น ชิงชัง จนต้องหาวิธีแก้แค้นต่าง ๆ นานา แล้วแต่ว่า “แรงอาฆาต” ของใครจะมีมากกว่ากัน
“ถ้าเราเข้าใจว่าการได้มา และการสูญเสีย คือเรื่องธรรมดา เราจะมีชีวิตที่สุขสบายใจขึ้นอีกมาก” (หน้า ๓๗)... “ทุก ๆ สิ่งที่เราเคยหวงแหน ที่แท้ก็เป็นของธรรมดา อะไร ๆ มันก็ธรรมดา... มันก็เท่านั้นเอง มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน มันเปลี่ยนแปลงได้เมื่อมีเหตุปัจจัยต้องให้เปลี่ยนไป” (หน้า ๓๘) เป็นคำกล่าวที่เรา ๆ ท่าน ๆ พึงจดจำไว้เป็นเครื่องเตือนใจตนเอง ทั้งผู้ที่กำลังเริ่ม “ริรัก” จนถึงผู้ที่ “รักร้าง” ไปแล้ว แต่ไม่ได้หมายให้ผู้ใดนำไปปลอบใจตนเอง ขณะที่กำลังจะ “ร้างรัก” ใครต่อใคร
เมื่อตกร่องปล่องชิ้นเป็นสามีภรรยาโดยสมบูรณ์แล้ว ทั้งคู่ควรจะได้ทำความเข้าใจร่วมกันว่า “เรามิใช่สิ่งเดียวที่มีอิทธิพลต่อจิตใจของคนที่เรารัก สภาวะแวดล้อม การงาน บรรยากาศอื่น ๆ ต่างมีส่วนต่อความรู้สึกนึกคิดจิตใจเขาด้วย” (หน้า ๔๑) การแต่งงานไม่ใช่หมายถึง ชีวิตที่ถูกพันธนาการจนทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเกิดความรู้สึกว่าเขาขาดอิสรภาพ แต่ “คู่ชีวิตที่ดีย่อมมีสติ ย่อมรู้ใจไหวทันถึงการเปลี่ยนแปลงในใจตน ทั้งเรื่องหลงเรื่องชัง การนอกใจ การมีชู้ มิใช่ปรากฏการณ์ฉุกเฉินที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันเป็นกระบวนการเรื้อรังที่เกิดขึ้นใจใจ มีการก่อตัวแล้วค่อย ๆ ลุกลาม ผู้มีสติปัญญาย่อมรู้ความหวั่นไหวในใจตั้งแต่เริ่มและดับมันเสียได้” (หน้า ๔๖) สามีภรรยาคู่ใดที่สามารถบรรลุถึงสาเหตุดังกล่าว และพร้อมที่จะป้องกันแก้ไขปัญหาชีวิตคู่คงจะลดน้อยลงไปได้มาก
มีพ่อแม่หลายคนที่รักลูกในทางที่ผิด “พ่อแม่หมายมั่นปั้นลูกเพื่อความมีหน้ามีตาของตน เพื่อเกียรติยศแห่งวงศ์ตระกูลมากกว่าที่จะเป็นไปเพื่อหาความสุข ความเบิกบานแท้จริงของลูก รักนั้นไม่อาจจัดได้ว่าสูงส่งเลย และมิได้เป็นการเสียสละเพื่อลูกอย่างแท้จริง” (หน้า ๑๐๖) มีลูกที่โชคร้ายเป็นจำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญเสียความสดชื่นของชีวิตไป เพื่อสนองความปรารถนาส่วนตัวของพ่อแม่ แล้วอย่างนี้จะเรียกว่ารักลูกได้อย่างไร
ความลุ่มหลงทะนงตนของคนหลายคน ที่เปรียบเสมือน “มะเร็งร้าย” ที่ทำลาย “ความรักของมวลมนุษย์ชาติ” โดยการตีกรอบเพื่อปิดกั้นผู้อื่น เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มของตน เกรงว่าจะมีใครมาแย่งชิงผลประโยชน์ที่ตนเองควรจะได้รับ หรือเพียงเพื่อ “สะใจ” ที่เห็นความเจ็บปวดรวดร้าวของผู้อื่น ความรู้สึกดังกล่าว ผู้เขียนกล่าวว่าเกิดจาก “อัตตา” ความยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง ความถือดีรังจะสร้างปัญหาให้แก่สังคมมิรู้จบ “โลกเป็นเพียงศาลาให้อาศัยชั่ววัยร่วมกับสรรพชีวิต ไยต้องมากีดกันความสุขของเพื่อนมนุษย์ ด้วยการไขว่คว้า กักตุน ด้วยการสร้างประวัติศาสตร์ของชนเฉพาะพวก พร้อมทั้งแผดเผาใจให้เร่าร้อน ถึงเราจะมีสมบัติมากมาย มีเกียรติขจรขจาย แต่เราก็อาจอับจนความสุข อับจนความรักไม่รู้จักพอ หาความสุขในชีวิตได้ยาก” (หน้า ๑๑๔)
“บางทีเราอาจมีชีวิตอยู่อย่างระวังใจตนเองน้อยเกินไป จึงมีความรักน้อยเกินไป มีไม่น้อยเลยที่เราทะเลาะกับใครต่อใครอยู่ในใจเพียงผู้เดียว อยากเอาชนะใครบางคน หมั่นไส้อีกคนอยู่ในใจลึก ๆ แม้ทาทีภายนอกเหมือนคบหาด้วยความอ่อนหวานสุภาพ แต่ทำไมเล่าถึงต้องหม่นหมอง เพราะไม่ชอบหน้ากันอยู่ในดวงใจ” (หน้า ๑๒๖) อ่านตรงนี้แล้วให้คิดถึงคนในสังคมชั้นสูงจำนวนมากที่ต่างพยายาม “ปั้นสีหน้า” หลอกลวงกัน แต่ในใจมีแต่ความเคียดแค้นชิงชัง จนหาความสงบสุขให้แก่ตนเองไม่ได้ มิหนำซ้ำยังแผ่กระจายความรุ่มร้อนแห่ง “ไฟริษยา” ให้ลุกลามไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่บุคคลรอบข้างอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะเป็นผู้หนึ่งที่ถูกชิงชัง หรือได้รับการดูถูกดูแคลนอยู่เนือง ๆ เราก็ไม่ควรโกรธตอบ เราควรใช้ความรักและความเสียสละ “อภัย” ให้แก่เขาเหล่านั้น “พระคุณต้องทดแทน แต่ความเคียดแค้นต้องอภัยได้” (หน้า ๑๒๔) การรู้จักอภัยย่อมสร้างความสะอาด สว่างและสงบให้เกิดขึ้นแก่ใจเราเอง และเป็นมงคงแก่ผู้ปฏิบัติ
เมื่อเราได้เห็นคุณเห็นโทษของ “ความรัก” ทั้งสองด้านอย่างนี้แล้ว เราก็ควรจะเลือกรักให้ถูกวิธี อย่าให้ความหลงเข้ามามีอิทธิพลเหนือจิตใจ จนเป็นมารผลาญความสุขสดชื่นทั้งหลายในชีวิตให้หมดสิ้นไป หรือถ้ายังแยกความรัก และความหลงออกจากกันไม่ได้ ก็ให้หาหนังสือ “สู่เส้นทางรัก” เล่มนี้มาอ่าน เพื่อจะได้พบทางสว่างอันเป็นประโยชน์โดยตรงแก่ตัวท่านเอง และยังประโยชน์มหาศาลแก่สังคมในทางอ้อมอีกประการหนึ่งด้วย